ไวรัสตับอักเสบชนิดซีภัยเงียบที่คุณควรระวังอวัยวะในร่างกายของเรามีหลายส่วนที่เป็นส่วนสำคัญ แต่ถ้าจะถามว่าอวัยวะส่วนใดสำคัญที่สุด หลายๆ คนคงจะตอบว่าหัวใจ และสมอง ซึ่งคำตอบนี้ก็ไม่ผิด แต่นอกจากอวัยวะทั้งสองส่วนนี้แล้ว ตับ (Liver) ก็จัดว่าเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน เพราะตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ถ้าไม่นับรวมผิวหนัง ซึ่งตับจะมีน้ำหนักคิดเป็น 1 : 50 ของน้ำหนักตัวผู้ใหญ่ คือ สมมุติว่าถ้าผู้ใหญ่คนหนึ่งมีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ตับของคนนั้นๆ ก็จะมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ลักษณะของตับจะมีรูปร่างเป็นลิ่มซ่อนอยู่ใต้ชายโครงด้านขวา จะมีสีน้ำตาลคล้ำ ตับเป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อกับระบบทางเดินอาหาร ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง เปลี่ยนแปลง เผาผลาญ และเก็บสะสมสารต่างๆ ในร่างกาย นอกจากนั้นตับยังเป็นแหล่งสร้างน้ำดี ซึ่งจะช่วยดูดซึมไขมันอีกด้วย เมื่อตับเป็นอวัยวะสำคัญเช่นนี้โรคภัยที่มาทำลายตับก็จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนควรจะเรียนรู้
ไวรัสตับอักเสบชนิดซี
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดซี สามารถติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ทางการให้นมบุตร การจามหรือไอรดกัน การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำด้วยกัน และการใช้ถ้วยชามร่วมกัน องค์การอนามัยโลกได้ประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซีแบบเรื้อรังทั่วโลกราว 170 ล้านคน ซึ่งมีผู้ที่ติดเชื้ออยู่ในอเมริกา 2 – 3 ล้านคน แต่ในอาเซียนอาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซีแบบเรื้อรังถึง 30 – 35 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้เป็นเพียงตัวเลขประมาณเท่านั้น แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเป็นโรคภัยที่มีจำนวนผู้ป่วยไม่น้อยทีเดียว สำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซีเมื่อเข้าไปในร่างกาย เชื้อจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 6 – 8 สัปดาห์ จะมีการแบ่งตัวออก และจะไปอาศัยเกาะอยู่ในตับ ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเข้าไประยะแรกจะเกิดตับอักเสบเฉียบพลัน อาการจะไม่รุนแรง ทำให้ผู้รับเชื้อไม่ทราบว่าตนเองเริ่มมีอาการตับอักเสบ ซึ่งอาการที่แสดงออกไม่รุนแรงนั้นเป็นสาเหตุให้ผู้รับเชื้อมีการอาการตับอักเสบเรื้อรังในภายหลัง ซึ่งอาการอักเสบจะเป็นแบบที่ละนิด ไม่ค่อยมีอาการชัดเจน อาจมีบ้างแต่ก็ไม่ใช่อาการจำเพาะคืออาการเหมือนโรคทั่วไป เช่นเหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง อ่อนเพลียหรือมึนงง ซึ่งทำให้ผู้ได้รับเชื้อนิ่งนอนใจคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก จนกระทั่งปล่อยไปเนิ่นนานจึงเข้าสู่ระยะตับแข็ง ซึ่งอาจจะกินระยะเวลานานเป็น 10 – 30 ปี ซึ่งผู้ป่วยจะมาพบแพทย์อีกที่บางรายก็เป็นระยะสุดท้ายของโรคตับแข็งแล้ว ซ้ำร้ายในคนไข้บางรายอาการตับแข็งยังส่งผลให้เกิดมะเร็งตับขึ้นมาอีกด้วย ไวรัสตับอักเสบชนิดซี จึงเสมือนภัยร้ายใกล้ตัวที่มาอย่างเงียบ ๆ
กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสได้รับเชื้อ ไวรัสตับอักเสบชนิดซี
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ไวรัสตับอักเสบชนิดซี ติดต่อกันทางเลือด บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสได้รับเชื้อจึงมีดังนี้
ผู้ที่เคยมีประวัติในการรับเลือดหรือเกล็ดเลือด จากกรณีเจ็บป่วย ผ่าตัดหัวใจ หรือเสียเลือดมาก หากคุณจัดอยู่ในกลุ่มนี้ คุณควรเข้าพบแพทย์และตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี โดยทันที
กลุ่มผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับการฟอกไตมาเป็นระยะเวลานาน ๆ กลุ่มนี้มีโอกาสติดเชื้อได้สูงเช่นกัน
ผู้ที่ติดสารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
ผู้ที่สัก เจาะหู เจาะตามร่างกาย หรือการสักด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ ก็มีโอกาสได้รับเชื้อได้ง่าย
ผู้ที่รสนิยมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ มีโอกาสได้รับเชื้อทางการมีเพศสัมพันธ์
การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซี
ในเบื้องต้นแพทย์ จะทำการตรวจเลือดว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีหรือไม่ โดยจะใช้วิธีการตรวจเลือดที่เรียกว่าแอนตี้เอชซีวี (anti-HCV) ซึ่งถ้าผลตรวจ anti-HCV แสดงค่าเป็นบวกแสดงว่าคนไข้เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมาก่อน แต่ปัจจุบันอาจจะหายขาดแล้วหรือยังมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายก็เป็นได้ทั้ง 2 ประการ ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความแน่ชัดขึ้นไปอีก โดยการตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่เรียกว่า อาร์เอ็นเอของ ไวรัสตับอักเสบซี (HCV RNA) ถ้าผลออกมาเป็นลบ ก็แสดงว่าคนไข้ไม่มีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายแล้ว แต่ถ้าให้ผลเป็นบวกเช่นเดิมแสดงว่าคนไข้ยังคงมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกาย นอกจากนี้แพทย์จะส่งตรวจทำอัลตราซาวน์ตับเพื่อดูว่ามีร่องรอยของตับแข็งหรือมะเร็งตับหรือไม่ ในกรณีที่ผลของอัลตราซาวน์ยังไม่ชัดเจน แพทย์ก็จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่มเติม
สำหรับในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อตับ (liver biopsy) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ประเมินความรุนแรงของตับอักเสบและพังผืดที่ตับที่แม่นยำมากที่สุด ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีการ Transjugular Biopsy (TJ) โดยใช้เข็มขนาดเล็กเข้าไปตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อตับมาตรวจดูทางพยาธิวิทยา ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นหนึ่งในการรักษาแบบ Minimal Invasive Surgery (MIS) เป็นการผ่าตัดแผลเล็ก มีความปลอดภัยสูงและเจ็บน้อย ทั้งนี้การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี แพทย์จะพิจารณาตามภาวะของโรคและโรคร่วมต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยมีอาการ
แม้วิทยาการจะก้าวหน้าแต่ความเข้าใจในโรคภัยของผู้คนยังน้อยอยู่มาก ซึ่งยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนที่เกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีอยู่ ผู้ที่ป่วยโรคนี้จึงยังถูกเข้าใจผิด ถูกรังเกียจและดูหมิ่น จนทำให้ผู้ป่วยต้องละอายและเสียกำลังใจ จนบางทีต้องแยกตัวออกจากสังคม ซึ่งตรงจุดนี้กำลังใจและความเข้าใจจากครอบครัว เพื่อนฝูงและชุมชน จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ในสังคม