ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: ถุงน้ำดีอักเสบ  (อ่าน 193 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 513
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: ถุงน้ำดีอักเสบ
« เมื่อ: 08 สิงหาคม 2024, 13:25:33 pm »
หมอประจำบ้าน: ถุงน้ำดีอักเสบ

ถุงน้ำดีอักเสบ หมายถึง ภาวะที่ถุงน้ำดีมีการอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาวะแทรกซ้อนของนิ่วน้ำดี (นิ่วในถุงน้ำดี) ดังนั้น จึงพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นนิ่วน้ำดี และพบได้บ่อยที่สุดในช่วงอายุ 50-69 ปี

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไข้และปวดท้องเกิดขึ้นฉับพลันทันที เรียกว่า "ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (acute cholecystitis)" ซึ่งมักมีอาการปวดท้องรุนแรง นับว่าเป็นโรคที่รุนแรงที่ต้องเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลอย่างรีบด่วน เนื่องเพราะหากปล่อยไว้หรือได้รับการรักษาที่ล่าช้า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ส่วนน้อยอาจมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่ชัดเจน และมักไม่ได้ถูกวินิจฉัยที่ถูกต้องตั้งแต่แรก อาการมักเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง เรียกว่า "ถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง (chronic cholecystitis)" ซึ่งการอักเสบที่เกิดขึ้นซ้ำซาก จะทำให้ผนังถุงน้ำดีหนาตัว ไม่สามารถขยายตัวและบีบตัวได้เป็นปกติ และหากปล่อยไว้ อาจกลายเป็นถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

ถุงน้ำดีอักเสบพบมากในกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเกิดนิ่วน้ำดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน) ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงสูง

สาเหตุ

ถุงน้ำดีอักเสบ ส่วนใหญ่มักเป็นภาวะแทรกซ้อนของนิ่วน้ำดี (นิ่วในถุงน้ำดี) หรือตะกอนในถุงน้ำดี (gall bladder sludge)  เนื่องจากนิ่วหรือตะกอนหลุดออกจากถุงน้ำดีลงมาอุดตันบริเวณปากถุงน้ำดี (cystic duct) ทำให้ถุงน้ำดีมีแรงดันเพิ่มขึ้นและมีการขยายตัว ทำให้เยื่อบุผนังของถุงน้ำดีขาดเลือด เป็นผลให้เกิดการอักเสบ และบางรายอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย (เช่น อีโคไล เคล็บซิลลา สเตรปโตค็อกคัส  สแตฟีโลค็อกคัส เป็นต้น) ร่วมด้วย

มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่ได้เกิดจากนิ่วหรือตะกอนในถุงน้ำดี แต่เกิดเป็นผลแทรกซ้อนจากโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ อาทิ  โรคติดเชื้อ (เช่น เอดส์ ตับอักเสบจากไวรัส ไทฟอยด์ เป็นต้น), ภาวะอุดกั้นของท่อน้ำดี (จากเนื้องอกในช่องท้อง หรือจากการตีบตันของท่อน้ำดีที่เกิดความผิดปกติ), การผ่าตัดในช่องท้อง, การบาดเจ็บรุนแรง หรือบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก, ภาวะขาดอาหารรุนแรง, การเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่กระทบต่อถุงน้ำดี หรือเกิดการทำลายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงถุงน้ำดีทำให้ถุงน้ำดีขาดเลือด เป็นต้น มักพบในผู้ป่วยที่สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีการเจ็บป่วยหนัก นอนรักษาตัวในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก มีภาวะช็อก หัวใจล้มเหลว หรือโลหิตเป็นพิษ หรือแพทย์ให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ (parenteral nutrition) เป็นเวลานาน สันนิษฐานว่าปัจจัยเหล่านี้ทำให้ถุงน้ำดีบีบตัวได้น้อย และน้ำดีซึ่งมีความเข้มข้น (เนื่องจากมีไข้สูงจากโรคที่เป็นสาเหตุ และภาวะขาดน้ำ) คั่งค้างอยู่ในถุงน้ำดีนาน ทำให้ถุงน้ำดีมีแรงดันเพิ่มขึ้น และเยื่อบุผนังของถุงน้ำดีขาดเลือด เป็นผลให้ถุงน้ำดีอักเสบ*

*ถุงน้ำดีอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากนิ่วหรือตะกอนในถุงน้ำดี (acalculous cholecystitis) พบได้ราวร้อยละ 5-10 ของผู้ที่เป็นถุงน้ำดีอักเสบทั้งหมด ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง ส่วนมากจะเกิดอาการถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (มีไข้สูงและปวดท้องรุนแรง) แต่มีความรุนแรง (คือมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ได้แก่ ถุงน้ำดีมีเนื้อตายเน่า และถุงน้ำดีแตกทะลุ) และมีอัตราตายมากกว่าถุงน้ำดีอักเสบที่เกิดจากนิ่วหรือตะกอนในถุงน้ำดี (calculous cholecystitis) แพทย์จะทำการรักษาแบบเดียวกับถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน


อาการ

ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมีการอักเสบเกิดขึ้นฉับพลันทันที ด้วยอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดท้องรุนแรง ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา เวลาหายใจลึก ๆ จะปวดเจ็บมากขึ้น  และมักมีอาการกดเจ็บ (ใช้มือกดตรงบริเวณที่ปวดจะรู้สึกเจ็บมาก) อาจมีอาการปวดร้าวไปที่ไหล่ขวา ใต้สะบักขวาหรือ ตรงกลางหลัง นอกจากนี้ อาจมีอาการท้องอืด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

อาการมักเกิดหลังกินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารมัน ๆ และจะมีอาการปวดท้องตลอดเวลาต่อเนื่องไปจนกว่าจะได้รับการรักษา

บางรายอาจมีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลืองเข้มเหมือนขมิ้น) และอุจจาระสีซีดขาว เนื่องจากน้ำดีถูกอุดกั้น ระบายสู่ลำไส้ไม่ได้ และย้อนเข้ากระแสเลือด

ถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ซึ่งอาการจะกำเริบเมื่อนิ่วหรือตะกอนในถุงน้ำดีเคลื่อนตัวไปอุดตันปากถุงน้ำดี ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องแบบเล็กน้อยตรงใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา บางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่ไหล่ขวา ใต้สะบักขวา หรือตรงกลางหลัง และอาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ คลื่นไส้ อาเจียน อาการมักเป็นในเวลาตอนเย็นหรือกลางคืน หรือหลังจากกินอาหารมัน ๆ อาการปวดท้องที่เป็นเพียงเล็กน้อยตรงชายโครงขวาและใต้ลิ้นปี่ มักทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าเป็นอาการของโรคกระเพาะหรืออาหารไม่ย่อย

อาการปวดท้องแต่ละครั้งจะเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นเดือน ๆ แล้วก็จะหายไปได้เองอยู่ระยะหนึ่ง (เนื่องจากนิ่วหรือตะกอนในถุงน้ำดีเคลื่อนตัวหลุดออกจากปากถุงน้ำดี ทำให้การอุดตันนั้นคลายไป) ต่อมาอีกสักระยะหนึ่ง เมื่อเกิดการอุดตันกลับมาอีก อาการก็จะกลับมากำเริบใหม่ เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยอาจมีอาการแรงขึ้นหรือบ่อยขึ้น

บางรายในเวลาต่อมาอาจมีอาการของถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (มีไข้ ปวดท้องรุนแรง) หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เกิดขึ้นได้


ภาวะแทรกซ้อน

ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

    ภาวะมีหนองในถุงน้ำดี (empyema of gallbladder) ซึ่งเกิดจากน้ำดีในถุงน้ำดีเกิดการติดเชื้อ กลายเป็นหนองขังอยู่ในถุงน้ำดี อาจทำให้เกิดภาวะช็อกจากโรคติดเชื้อ (septic shock) เป็นอันตรายได้
    ถุงน้ำดีเป็นเนื้อตายเน่า (gangrene of gallbladder) ซึ่งเกิดจากผนังถุงน้ำดีที่อักเสบเกิดการบวมและขยายตัว ทำให้ขาดเลือดและเนื้อเยื่อตาย ถุงน้ำดีเกิดการแตกทะลุ เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบและหนองในช่องท้อง เชื้อเข้ากระแสเลือด กลายเป็นโลหิตเป็นพิษ เป็นอันตรายได้
    ถุงน้ำดีที่มีภาวะพองลม (emphysematous cholecystitis) เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงถุงน้ำดีแข็งและตีบตัว ทำให้ถุงน้ำดีขาดเลือด เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่สร้างก๊าซ (gas forming organism เช่น กลุ่มเชื้อคลอสตริเดียม อีโคไล เป็นต้น) ทำให้เกิดการสะสมของก๊าซ (การพองลม) ในผนังถุงน้ำดีและภายในของถุงน้ำดี เป็นภาวะที่พบได้น้อย พบบ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ที่เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคนี้ ซึ่งมีอัตราตายสูง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเนื้อตายเน่าและการแตกทะลุของถุงน้ำดี
    ภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อาจพบได้ เช่น ภาวะโลหิตเป็นพิษ (เชื้อเข้ากระแสโลหิต) ตับอ่อนอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ ตับอักเสบ


ถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง อาจพบภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

    มีอาการของถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อนตามมาในภายหลัง และอาจมีผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงดังกล่าวข้างต้น
    ลำไส้อุดกั้น (small bowel obstruction) เนื่องจากเกิดทางทะลุ (fistula) ระหว่างถุงน้ำดีกับลำไส้เล็ก นิ่วในถุงน้ำดีหลุดเข้าไปอุดกั้นในลำไส้เล็ก ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องอืดแน่นรุนแรง เรียกว่า "ภาวะลำไส้อุดกั้นจากนิ่วน้ำดี (gallstone ileus)"
    ท่อน้ำดีเกิดการอุดกั้น จากการกดเบียดของพังผืดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการอักเสบเรื้อรังของถุงน้ำดี ทำให้เกิดภาวะดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลืองเข้มเหมือนขมิ้น และอุจจาระสีซีดขาว) และอาจเกิดการติดเชื้อ ทำให้ท่อน้ำดีอักเสบแทรกซ้อนได้
    การอักเสบเรื้อรังของถุงน้ำดี อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งของถุงน้ำดีมากกว่าปกติ

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากการซักถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย

การตรวจร่างกาย ในผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันมักพบว่ามีไข้ กดเจ็บมากตรงใต้ชายโครงขวาหรือใต้ลิ้นปี่ บางรายอาจตรวจพบอาการตาเหลืองตัวเหลือง

ส่วนในผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง จะไม่พบว่ามีไข้ หรืออาการตาเหลืองตัวเหลือง และอาจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนอื่น ๆ ยกเว้นบางรายอาจตรวจพบอาการกดเจ็บเล็กน้อยบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง (abdominal ultrasound) และการตรวจเลือด (ในถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน จะพบว่ามีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ และการทำงานของตับผิดปกติ) เป็นหลัก ในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อเข้ากระแสโลหิต (โลหิตเป็นพิษ) แพทย์จะทำการเพาะเชื้อจากเลือด (blood culture) และทดสอบความไวของเชื้อต่อยาปฏิชีวนะ

นอกจากนี้ อาจทำการตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ (endoscopic ultrasound) การถ่ายภาพรังสีตรวจถุงน้ำดีโดยการกินสารทึบรังสี (oral cholecystography) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การตรวจสแกนตับและทางเดินน้ำดี (hepatobiliary scan) การส่องกล้องตรวจทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography/ERCP) เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การดูแลรักษาดังนี้

1. ให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ โดยให้ผู้ป่วยงดน้ำและอาหารเพื่อให้ถุงน้ำดีได้พัก และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ ให้ยาบรรเทา (เช่น แก้ปวด แก้ไข้ แก้คลื่นไส้อาเจียน)

2. ให้ยาปฏิชีวนะ รักษาการติดเชื้อ ซึ่งมักจะให้ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำเป็นหลัก

3. ทำการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เพื่อป้องกันไม่ให้ถุงน้ำดีอักเสบกำเริบซ้ำ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งจะพิจารณาทำการผ่าตัดในเวลาที่เหมาะสม ยกเว้นในรายที่มีภาวะที่รุนแรง (เช่น ภาวะมีหนองในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีมีเนื้อตายเน่า ภาวะโลหิตเป็นพิษ) หรือการรักษาด้วยยาไม่ได้ผลเท่าที่ควร แพทย์ก็จะทำการผ่าตัดแบบรีบด่วน

การผ่าตัด แพทย์จะเลือกวิธีผ่าตัดถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง (laparoscopic cholecystectomy) หรือผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง (open cholecystectomy) โดยพิจารณาตามสภาพปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย

ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดถุงน้ำดี แพทย์จะใช้วิธีผ่าระบายถุงน้ำดี (cholecystostomy) โดยทำการเปิดถุงนํ้าดีผ่านทางหน้าท้อง เพื่อระบายเอาหนองหรือน้ำดีออกทางท่อต่อสายยางที่เย็บติดกับทางเปิดนั้น

ผลการรักษา ส่วนใหญ่ได้ผลดี ร่างกายฟื้นตัวหายได้เป็นปกติ

ส่วนน้อยอาจมีความยุ่งยากในการรักษา หรือเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ซึ่งมักจะพบในผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง (เช่น ภาวะมีหนองในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีมีเนื้อตายเน่า เชื้อเข้ากระแสโลหิตหรือโลหิตเป็นพิษ), มีภาวะดื้อต่อยาที่รักษา, หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง ตับแข็ง เป็นต้น)

ถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบไม่รีบด่วน คือนัดหมายให้ทำในเวลาที่สะดวกและมีการเตรียมความพร้อม ซึ่งส่วนใหญ่จะทำการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง การผ่าตัดถุงน้ำดีนอกจากจะได้ผลดีและปลอดภัยแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้ได้รับอันตรายจากการเกิดถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้อีกด้วย

สำหรับผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรังบางคนที่ยังไม่สะดวกหรือไม่พร้อมที่จะรับการผ่าตัด หากร่างกายยังแข็งแรงดี หรือมีอาการยังไม่มาก แพทย์จะทำการติดตามดูอาการเป็นระยะ และแนะนำให้หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันสูงเพื่อไม่ให้อาการกำเริบบ่อย


การดูแลตนเอง

หากสงสัยเป็นถุงน้ำดีอักเสบ เช่น มีไข้และปวดท้องรุนแรงตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา หรือมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ซึ่งกินยารักษาโรคกระเพาะไม่ได้ผล หรือเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นถุงน้ำดีอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
    ผู้ป่วยที่เป็นถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรังที่ยังไม่ได้ผ่าตัด ซึ่งแพทย์นัดติดตามดูอาการเป็นระยะนั้น ควรปฏิบัติ ดังนี้

- ทำงาน และออกกำลังกายได้เป็นปกติ แต่ไม่ให้หักโหมมากเกินไป
- กินอาหารให้ตรงเวลา ไม่ควรอดอาหาร 
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันสัตว์ เครื่องในสัตว์ หนังสัตว์ น้ำมันหมู มันหมู  หมูสามชั้น หมูกรอบ ขาหมู ข้าวมันไก่ เนื้อวัวติดมัน หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอก เนย ครีม กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไข่แดง อาหารทะเล (เช่น หอยแครง หอยนางรม ปลาหมึก) อาหารทอด (เช่น แคบหมู หมูทอด ไก่ทอด กล้วยแขก ปาท่องโก๋ มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบทอด) เป็นต้น
- กินผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืชให้มาก ๆ
- งดสูบบุหรี่และดื่มสุรา
- ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง หรือปวดท้องบ่อย มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด (โดยไม่ตั้งใจ) หรือมีความวิตกกังวล


ผู้ป่วยที่กลับจากโรงพยาบาลหลังผ่าตัด

- ควรพักฟื้น และหลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือยกของหนักจนกว่าจะฟื้นตัวเป็นปกติ หรือตามที่แพทย์แนะนำ
- ดูแลรักษาแผลผ่าตัดตามที่แพทย์แนะนำ
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารโปรตีนให้มาก เช่น นมพร่องมันเนย ไข่ขาว เนื้อปลา เต้าหู้ ถั่วเหลือง เป็นต้น
- กินอาหารที่ย่อยง่าย วันละ 5-6 มื้อ แต่ละมื้อลดปริมาณลงเหลือครึ่งหนึ่งของปกติ (จากที่เคยกินวันละ 3 มื้อ)
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง และอาหารที่ทำให้ท้องอืดแน่น หรือท้องเดิน
- กินผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืชให้มาก ๆ
- ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้าแผลอักเสบ, หรือมีอาการปวดท้องรุนแรง มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินมาก ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด (โดยไม่ตั้งใจ), หรือถ้ากินยาที่แพทย์สั่งให้แล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ)


การป้องกัน

1. หาทางป้องกันไม่ให้เป็นนิ่วน้ำดี โดยปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

    รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินหรือเป็นโรคอ้วน
    ถ้าต้องการลดน้ำหนักตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแนะนำวิธีลดน้ำหนักที่ถูกต้อง ไม่ลดเร็วเกินไป เนื่องเพราะการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วน้ำดี
    กินอาหารให้ตรงเวลา ไม่ข้ามมื้ออาหาร หรืออดอาหาร
    ลดอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง
    กินอาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช
    ออกกำลังกายเป็นประจำ

2. ผู้ที่แพทย์ตรวจพบว่าเป็นนิ่วน้ำดี ควรรักษาด้วยการผ่าตัดถุงน้ำดีตามที่แพทย์แนะนำ


ข้อแนะนำ

1. ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (มีอาการไข้และปวดท้องรุนแรงตลอดเวลา) ซึ่งพบได้บ่อยกว่าถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง (มีอาการปวดท้องที่ไม่ค่อยชัดเจนและไม่รุนแรง เป็น ๆ หาย ๆ บ่อย) นับว่าเป็นภาวะที่ค่อนข้างร้ายแรง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็ว หากมีอาการสงสัย ควรไปพบแพทย์ภายใน 6 ชั่วโมง การไปพบแพทย์ล่าช้าเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษาหรือเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ

2. ผู้ที่มีอาการปวดตรงใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวาแบบไม่รุนแรง หรือมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อบ่อย โดยที่สุขภาพทั่วไปเป็นปกติดี และมักมีอาการหลังกินอาหาร เป็น ๆ หาย ๆ คล้ายอาการของโรคกระเพาะหรืออาหารไม่ย่อย มักจะเข้าใจว่าเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร (เช่น กรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารอักเสบ) ถ้าลองกินยาที่ใช้รักษาโรคกระเพาะแล้วอาการไม่ทุเลา หรือมีอาการเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการของถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรังก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติเป็นนิ่วน้ำดีแบบไม่มีอาการ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วน้ำดี (เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน คนอ้วน เป็นต้น)

3. เมื่อตรวจพบว่าเป็นถุงน้ำดีอักเสบ แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไป หลังผ่าตัดใหม่ ๆ ผู้ป่วยบางคนอาจมีปัญหาการย่อยไขมันได้ ทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเดิน หรือถ่ายเหลวบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกินอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัว ทำให้อาการทุเลาไปได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ ระหว่างที่มีอาการ แนะนำให้ผู้ป่วยงดกินอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารที่ทำให้ท้องอืดแน่น หรือท้องเดิน ควรกินผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มาก ๆ


 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทเว็บไซต์ฟรี