ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: ปีกมดลูกอักเสบ (Salpingitis) เยื่อบุมดลูกอักเสบ (Endometritis)  (อ่าน 138 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 513
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: ปีกมดลูกอักเสบ (Salpingitis) เยื่อบุมดลูกอักเสบ (Endometritis)

เยื่อบุมดลูกอักเสบ (endometritis) หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุภายในโพรงมดลูก (โพรงมดลูกอักเสบ มดลูกอักเสบ ก็เรียก)

ทั้ง 2 โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ (15-45 ปี) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผ่านช่องคลอดเข้าไปทางปากมดลูก ขึ้นไปในโพรงมดลูก (ทำให้เยื่อบุมดลูกอักเสบ) และถ้าหากลุกลามต่อไปในท่อรังไข่และรังไข่ ก็ทำให้กลายเป็นปีกมดลูกอักเสบ (ซึ่งอาจเกิดกับปีกมดลูกทั้ง 2 ข้างหรือข้างใดข้างหนึ่ง) หากไม่รักษาเชื้ออาจแพร่กระจายไปบริเวณข้างเคียงในระบบสืบพันธุ์ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้

ทั้ง 2 โรคนี้บางครั้งจึงอาจพบร่วมกันจนแยกจากกันไม่ออก และมักจะเรียกรวม ๆ กันว่า อุ้งเชิงกรานอักเสบ (pelvic inflammatory disease/PID) ซึ่งครอบคลุมถึงการอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูก ท่อรังไข่ รังไข่ และเยื่อบุช่องท้องภายในอุ้งเชิงกราน โรคนี้บางคนอาจเป็นโดยไม่รู้ตัวเพราะไม่มีอาการ ส่วนผู้ที่มีอาการอาจมีอาการแบบเฉียบพลัน (มีไข้ ปวดท้องรุนแรง) หรือแบบเรื้อรัง ซึ่งมักพบในผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ได้ครบถ้วนตามที่แพทย์แนะนำ และอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย

โรคนี้พบบ่อยในผู้หญิงที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และอาจพบในผู้หญิงที่คลอดบุตร แท้งบุตร ขูดมดลูก ใส่ห่วงคุมกำเนิด หรือชอบสวนล้างช่องคลอดเอง

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่เป็นเชื้อหนองใน และคลามีเดีย (หนองในเทียม) อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่เป็นปกติวิสัย (ประจำถิ่น) ในช่องคลอด (เช่น เชื้อสเตรปโตค็อกคัส สแตฟีโลค็อกคัส) ซึ่งจะเข้าไปในโพรงมดลูกจากการคลอดบุตร แท้งบุตร ขูดมดลูก ใส่ห่วงคุมกำเนิด หรือการสวนล้างช่องคลอด

การติดเชื้ออาจเกิดสาเหตุสำคัญ ดังนี้

1. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปีกมดลูกอักเสบหรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ เชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้อหนองใน (โกโนค็อกคัส) และเชื้อหนองในเทียม (คลามีเดียทราโคมาติส)

2. การติดเชื้อหลังคลอด (puerperal infection) อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่เป็นปกติวิสัย (ประจำถิ่น) ในช่องคลอด (เช่น เชื้อสเตรปโตค็อกคัส สแตฟีโลค็อกคัส) ระหว่างคลอดมีปัจจัย (เช่น ภาวะโลหิตจาง ภาวะถุงน้ำแตกรั่วอยู่นาน การคลอดยาก การบาดเจ็บ ภาวะตกเลือดหลังคลอด เศษรกค้าง ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น) กระตุ้นให้เชื้อเหล่านี้เจริญขึ้นจนเป็นโรค หรือไม่ก็อาจแปดเปื้อนเชื้อจากภายนอกช่องคลอดเข้าไปในช่องคลอดและมดลูก ทำให้เกิดเยื่อบุมดลูกอักเสบได้ มักมีอาการหลังคลอด 24 ชั่วโมง

3. การทำแท้ง หากไม่สะอาดมักทำให้มีเชื้อโรคเข้าในมดลูก เกิดการอักเสบขึ้นได้ เรียกว่า การแท้งติดเชื้อ (septic abortion)


อาการ

ในรายที่เป็นเฉียบพลัน มักมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดท้องน้อย ตกขาวออกเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น อาจมีอาการปวดหลัง คลื่นไส้ อาเจียน ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อหนองใน อาจมีอาการขัดเบา ปัสสาวะปวดแสบขัดร่วมด้วย

ถ้าเป็นการติดเชื้อหลังคลอด มักเกิดอาการหลังคลอด 24 ชั่วโมง น้ำคาวปลาอาจออกน้อยหรือมาก และมีกลิ่นเหม็น

ถ้าเกิดจากการทำแท้งจะมีอาการแบบแท้งบุตร (ปวดบิดท้องเป็นพัก ๆ และมีเลือดออกจากช่องคลอด) ร่วมด้วย

ในรายที่เป็นอุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรัง อาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ อาการปวดท้องน้อย 1-2 ข้าง ปวดเสียดหลังส่วนล่าง ปวดประจำเดือน ประจำเดือนออกมากหรือกะปริดกะปรอย มีตกขาวเป็นสีเหลืองหรือเขียวและมีกลิ่นเหม็น ปวดขัดหรือปวดแสบเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย มีอาการปวดท้องน้อย หรือมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์

มักมีอาการเกิดขึ้นในช่วงหลังมีประจำเดือน อาจมีอาการในช่วงสั้น ๆ แล้วหายไปเองโดยไม่ได้รักษา บางรายอาจมีอาการแบบเฉียบพลัน (มีไข้ ปวดท้องน้อย) กำเริบเป็นครั้งคราว


ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้เกิดเป็นฝีในรังไข่หรือท่อรังไข่ ซึ่งจะทำให้เป็นแผลเป็นจนกลายเป็นหมันได้ และมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกมากกว่าปกติ

การเกิดแผลหรือพังผืดในท่อรังไข่ มักทำให้มีอาการปวดท้องน้อย (อุ้งเชิงกราน) เรื้อรังเป็นปี ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักปวดเวลามีเพศสัมพันธ์ และช่วงที่มีไข่ตก


นอกจากนี้ในบางรายเชื้อโรคอาจลุกลาม จนทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ถ้ารุนแรงอาจกลายเป็นโลหิตเป็นพิษถึงเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดจากการทำแท้ง


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย (รวมทั้งการตรวจภายใน)

ในรายที่มีอาการแบบเฉียบพลัน มักตรวจพบไข้สูง กดเจ็บมากตรงบริเวณท้องน้อยทั้ง 2 ข้าง (บางรายอาจเจ็บข้างเดียว ถ้าเป็นข้างขวาจำเป็นต้องตรวจแยกโรคให้ชัดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบหรือปีกมดลูกอักเสบ)

อาจได้กลิ่นของตกขาว เลือดประจำเดือน หรือน้ำคาวปลา

อาจพบอาการซีด หรือภาวะช็อกในรายที่เป็นรุนแรง

ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ นำหนองในช่องคลอดไปตรวจหาเชื้อ รวมทั้งอาจทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น อัลตราซาวนด์ ใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (laparoscopy) เอกซเรย์โพรงมดลูกและท่อนำไข่ (โดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่โพรงมดลูกและท่อนำไข่) ตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุมดลูก (endometrial biopsy) เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

ในรายมีอาการรุนแรง กำลังตั้งครรภ์ สงสัยมีฝีในรังไข่หรือท่อรังไข่ หรือใช้ยาปฏิชีวนะชนิดกินไม่ได้ผล แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้การรักษาตามอาการ (เช่น ให้ยาแก้ปวด ลดไข้ ให้น้ำเกลือ ให้เลือดถ้าซีด) และให้ยาฏิชีวนะตามเชื้อที่ก่อโรค ซึ่งมักเป็นยาที่สามารถรักษาครอบคลุมเชื้อหนองในและหนองในเทียม (เชื้อคลามีเดีย) โดยใช้ยาชนิดฉีดในระยะแรก ๆ ก่อน

ถ้าอาการไม่รุนแรง ก็ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก (ไม่ต้องอยู่ในโรงพยาบาล) โดยให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเช่นเดียวกัน

ยาปฏิชีวนะมีทั้งชนิดฉีดและชนิดกิน ซึ่งมีให้เลือกหลายขนาน โดยใช้ยา 2-3 ชนิดร่วมกัน และมักให้ยานาน 14 วัน

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน ที่สำคัญคือ การเกิดหนองหรือฝีในบริเวณปีกมดลูก จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์นิยมใชัวิธีผ่าตัดแบบส่องกล้องระบายหนองออก และรักษาท่อรังไข่ที่เกิดแผลหรือพังผืดสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตรในอนาคต

ผลการรักษา ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม และได้ยาปฏิชีวนะอย่างครบถ้วน ก็จะหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา หรือได้ยาไม่ครบถ้วน ก็อาจกลายเป็นอุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรัง และอาจมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา ในรายที่เป็นรุนแรง เช่น การติดเชื้อจากการทำแท้ง (การแท้งติดเชื้อ) หากรักษาล่าช้าไป อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดท้องน้อย ตกขาวออกเป็นหนอง มีประจำเดือนออกมาก และมีกลิ่นเหม็น หรือหลังคลอด 24 ชั่วโมงมีน้ำคาวปลาออกน้อยหรือมากและมีกลิ่นเหม็น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นปีกมดลูกอักเสบ หรือเยื่อบุมดลูกอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
    มีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดท้องรุนแรง ตกขาวมากและมีกลิ่นเหม็น อาเจียนมาก กินอาหารและดื่มน้ำได้น้อย ลุกนั่งหน้ามืดจะเป็นลม เป็นต้น
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอดเอง 

2. ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย

3. ปรึกษาแพทย์ในการใช้วิธีคุมกำเนิดที่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลีกเลี่ยงการใส่ห่วงคุมกำเนิด

4. ควรงดการร่วมเพศ หรือสวนล้างช่องคลอด เป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ภายหลังการคลอดบุตร แท้งบุตร หรือการขูดมดลูก เนื่องเพราะเป็นช่วงที่เยื่อบุมดลูกอ่อนแอ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

5. สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ (ไม่อยากได้บุตรในครรภ์) ไม่ควรทำแท้งกันเอง หรือใช้เครื่องมือสกปรกในการทำแท้ง เพราะอาจติดเชื้อรุนแรงถึงตายได้ ทางที่ดีควรขอคำแนะนำจากแพทย์โดยตรง

6. ถ้าสงสัยว่าติดเชื้อหนองในจากสามี (เช่น สามีมีอาการปัสสาวะขัด หรือมีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ) ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะลุกลามเป็นปีกมดลูกอักเสบ


ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยควรงดการร่วมเพศนาน 3-4 สัปดาห์ จนกว่ามดลูกจะฟื้นตัวแข็งแรงดี

2. ผู้ป่วยที่ใส่ห่วงคุมกำเนิด ควรเอาห่วงออก และแนะนำให้คุมกำเนิดโดยวิธีอื่นแทน

3. ถ้าเกิดจากเชื้อหนองใน ต้องรักษาสามีพร้อมกันไปด้วย มิเช่นนั้นอาจติดเชื้อจากสามีซ้ำซาก และเกิดอาการกำเริบได้อีก

4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรรับการรักษาอย่างจริงจังและกินยาให้ครบตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ อย่าปล่อยให้เชื้อลุกลามเป็นเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตราย หรืออาจทำให้เป็นหมันได้

5. โรคนี้อาจแสดงอาการภายหลังการมีประจำเดือน ซึ่งอาการมีไข้หลังมีประจำเดือน ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ไข้ทับระดู (ถ้ามีประจำเดือนหลังไข้ เรียกว่า ระดูทับไข้) และมีความเชื่อว่า ห้ามฉีดยา มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายได้ ความจริงแล้วอาการไข้ทับระดู หรือระดูทับไข้ นั้นมีสาเหตุจากไข้อะไรก็ได้ (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย ไทฟอยด์ เป็นต้น) แต่บังเอิญมาประจวบเหมาะกับการมีประจำเดือนเข้า โดยไม่จำเป็นต้องมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับประจำเดือนแต่อย่างใด

แต่ที่อาจเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน ก็ได้แก่ ปีกมดลูกอักเสบหรือเยื่อบุมดลูกอักเสบ เข้าใจว่าคงเคยมีคนที่เป็นโรคนี้ไปฉีดยาประเภทเพนิซิลลิน (ซึ่งเป็นยาที่นิยมใช้กันในสมัยก่อน และเป็นยาที่ทำให้แพ้ได้ง่าย) แล้วบังเอิญเกิดการแพ้ยาถึงตายขึ้นมา จึงทำให้เกิดความเชื่อเรื่องห้ามฉีดยาขึ้นมาก็ได้

ความจริงก็คือ ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการแพ้ยา และถ้ามีความจำเป็นต้องฉีดยาในผู้ป่วยที่มีไข้ร่วมกับการมีประจำเดือน ก็สามารถกระทำได้แบบเดียวกับผู้ป่วยทั่วไป

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทเว็บไซต์ฟรี